1. การสุ่มตัวอย่าง
- เมล็ดพันธุ์ 1-6 กระสอบ สุ่มเก็บจากทุกกระสอบ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 5 จุดสุ่ม
- เมล็ดพันธุ์มากกว่า 6 กระสอบขึ้นไป สุ่มเก็บจาก 5 กระสอบ +10% ของจำนวนกระสอบที่เหลือ เศษเกินครึ่ง คิดเป็น 1 และสุ่มเก็บสูงสุด ไม่เกิน 30 จุดต่อ 1 กอง
- เมล็ดพันธุ์ที่กองรวมกัน สุ่มให้ทั่วกอง จำนวนจุดที่สุ่มเก็บ คิดเทียบกับน้ำหนักเมล็ดพันธุ์ที่บรรจุในกระสอบ เช่น เมล็ดพันธุ์กองหนึ่งมีปริมาณ 2,000 กิโลกรัม ถ้าบรรจุกระสอบจะได้ 80 กระสอบ (25กก./กระสอบ) ดังนั้นจะต้องสุ่มทั่วกอง 13 จุด
- ตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ที่สุ่มเก็บจากหลาย ๆ จุด เมื่อรวมกันแล้วต้องมากพอสำหรับการทดสอบคุณภาพ เช่น ข้าว, ถั่วเหลือง,ถั่วเขียว ให้ได้ตัวอย่างเมล็ดพันธุ์นำส่งตรวจสอบน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม
2. การแบ่งตัวอย่าง
- นำเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างไปแบ่งเพื่อให้ได้จำนวนเท่าที่ใช้ในแต่ละการทดสอบโดยนำไปผ่านเครื่องแบ่งตัวอย่างเมล็ดพันธุ์
- กรณีที่ไม่มีเครื่องแบ่งตัวอย่าง นำเมล็ดพันธุ์ที่สุ่มได้มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แบ่งเป็น 8 ส่วนเท่าๆ กัน รวมส่วนย่อยๆ สลับกันตามเส้นทแยงมุม รวมเข้าด้วยกันแล้วจึงนำมาแบ่งอีกจนได้น้ำหนักตามที่ต้องการ
3. การตรวจสอบความชื้น
ปริมาณน้ำในเมล็ดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพ เมล็ดพันธุ์จะมีชีวิตได้ยาวนานจะต้องมีความชื้นต่ำอยู่ในระดับที่ปลอดภัย
วิธีอบด้วยความร้อนในตู้อบ
เป็นวิธีการวัดความชื้นของเมล็ดพันธุ์ในห้องปฏิบัติการที่ให้ผลถูกต้องแม่นยำ อุณหภูมิที่ใช้อบเมล็ดพันธุ์ข้าว คือ 130-133 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 2 ชั่วโมง
การวัดความชื้นโดยใช้เครื่อง
เป็นการวัดที่สะดวกและทราบผลอย่างรวดเร็ว นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถนำไปใช้ได้ในไร่นา เช่น โดล, SPID , EE-KU , PM400 , PM600 ส่วนที่นิยมใช้ในห้องปฏิบัติการ คือ เครื่องวัดแบบใช้ไฟฟ้า และแบบใช้แสงอินฟาเรด
4. การตรวจสอบความบริสุทธิ์เมล็ดพันธุ์
เพื่อให้ทราบว่าเมล็ดพันธุ์ในแต่ละกองหรือกระสอบที่ได้สุ่มตัวอย่างมา มีปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวอื่นปน เมล็ดพืชอื่น และสิ่งเจือปนเท่าใดบ้าง และเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่
เมล็ดพันธุ์สุทธิ หมายถึง เมล็ดข้าวที่ระบุให้ตรวจสอบซึ่งนอกจากจะหมายถึงเมล็ดที่สมบูรณ์ดีแล้ว ยังรวมถึงเมล็ดที่มีขนาดเล็ก เมล็ดลีบเหี่ยวย่น เมล็ดที่ไม่แก่เต็มที่ ชิ้นส่วนของเมล็ดที่ใหญ่กว่าครึ่ง ซึ่งเป็นพันธุ์เดียวกับที่ตรวจสอบ
เมล็ดข้าวพันธุ์อื่น หมายถึง เมล็ดที่มีลักษณะแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดว่าเป็นคนละพันธุ์กับที่ระบุในการตรวจสอบ
เมล็ดพืชอื่นๆ หมายถึง เมล็ดพืชต่างชนิดกับที่ระบุในการตรวจสอบรวมทั้งเมล็ดวัชพืช
สิ่งเจือปน หมายถึง สิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่เมล็ด เช่น เศษหิน ดิน ทราย เศษลำต้น เปลือกหุ้มเมล็ด รวมทั้งชิ้นส่วนของเมล็ดที่มีขนาดเล็กกว่าครึ่ง
5. การทดสอบความงอก
เพื่อวัดความสามารถในการงอกของเมล็ด เมื่อได้รับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (ความชื้น อุณหภูมิ แสง วัสดุเพาะที่เหมาะสม) วัดเป็นเปอร์เซ็นต์ต้นอ่อนปกติ เพื่อใช้ในการคำนวณปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่จะใช้ปลูกในนา
การทดสอบความงอกโดยใช้กระดาษ
- จัดเตรียมภาชนะ เช่น กล่องพลาสติก กระดาษเพาะ
- นำกระดาษเพาะชุบน้ำสะอาด และวางในกล่องพลาสติก
- สุ่มนับเมล็ดพันธุ์ 100 เมล็ดวางเรียงเมล็ดบนกระดาษเพาะทำจำนวน 4 กล่อง (4ซ้ำ)
การประเมินความงอก
ตรวจนับต้นอ่อนหลังเพาะ ประมาณ 5 – 14 วัน ทำการตรวจนับต้นอ่อนทั้ง 4 ซ้ำ และนำมาคำนวณหาค่าเฉลี่ย
การประเมินผลความงอก แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ ต้นอ่อนปกติ ต้นอ่อนผิดปกติ เมล็ดสดไม่งอก/เมล็ดพักตัว และเมล็ดตาย
| ต้นอ่อนปกติ | ต้นอ่อนผิดปกติ | เมล็ดพักตัว | เมล็ดตาย |
ซ้ำที่ 1 | 90 | 6 | 2 | 2 |
ซ้ำที่ 2 | 86 | 8 | 3 | 3 |
ซ้ำที่ 3 | 84 | 10 | 3 | 3 |
ซ้ำที่ 4 | 88 | 8 | 1 | 3 |
รวม | 384 | 32 | 9 | 11 |
เฉลี่ย | 87 | 8 | 2 | 3 |