การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์


การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์
 
                การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์  (Seed  conditioning)  หมายถึง  ขบวนการที่มีการปฏิบัติการต่อเนื่องหลักการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์  จากแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อยกระดับคุณภาพด้านกายภาพของเมล็ดพันธุ์โดยการขจัดหรือลดสิ่งหรือสภาพที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ  ออกไป  ได้แก่  การลดความชื้นส่วนเกิน  การคัดแยกหิน  ดิน  ทรายเศษต้นพืช  เมล็ดพืชอื่น  เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้ขนาดและสิ่งเจือปนอื่น ๆ ออกให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนด  เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีสำหรับกระจายสู่ชาวนา  เพาะปลูกต่อไป
 
การวางแผนการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์
                การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์  เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ข้าวมีคุณภาพดีตามมาตรฐานจำหน่ายสู่เกษตรกรนำไปเพาะปลูก  โดยมีการควบคุมตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในระหว่างการปรับปรุงสภาพโดยผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ต้องพิจารณาถึงต้นทุนการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์  จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนการปฏิบัติงานล่วงหน้า  แบ่งเป็น  2  ระยะ  ได้แก่
1. การประสานแผนก่อนการปฏิบัติงาน
เป็นการประสานงานเพื่อการวางแผนในเบื้องต้น  ภายหลักจากที่ได้กำหนดแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นรายพืช/พันธุ์/ฤดู/ปี  โดยมีการประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดแผนปฏิบัติงานพร้อมกัน  เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่องทั้งระบบ  โดยมีรายละเอียดการประสานงานกับงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการวางแผนปฏิบัติงาน  อย่างไรก็ตามหากมีการปรับเปลี่ยนแผนก็สามารถปรับแผนการปฏิบัติงานร่วมกันได้  ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว
2. การประสานแผนระหว่างการปฏิบัติงาน
ระหว่างการปฏิบัติงาน  แม้ว่าจะมีการจัดทำแผนการปฏิบัติในเบื้องต้นร่วมกันอย่างดีแล้วก็ตาม  แต่ในระหว่างการปฏิบัติงานจำเป็นต้องมีการปรับแผนการปฏิบัติงานในระหว่างการทำงาน  สาเหตุจากการผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นกระบวนการที่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด  บางครั้งขึ้นกับสภาพแวดล้อม  ภูมิอากาศ  โรคแมลงระบาด  หรือความต้องการของเกษตรกรเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของราคาข้าว  ดังนั้น  จึงจำเป็นต้องมีการประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง  3  งานสำคัญ  คือ  งานผลิตงานตลาด  และงานควบคุมคุณภาพ
 
การเตรียมการก่อนการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์
                ภายหลังการกำหนดแผนการปฏิบัติงานร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว  การจัดทำแผนการจัดการเมล็ดพันธุ์ภายหลังการเก็บเกี่ยวจะทำให้ทราบว่าในแต่ละช่วงเวลาจะมีการดำเนินงานกับเมล็ดพันธุ์ข้าว/ชั้นพันธุ์/ฤดู/ปี  เมื่อใด  ดังนั้น  ก่อนการปฏิบัติงานในแต่ละฤดู จะต้องเตรียมความพร้อมของบุคลากร  สถานที่และเครื่องจักรอุปกรณ์  ซึ่งการเตรียมความพร้อมของสถานที่  และเครื่องจักรอุปกรณ์ตัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์มีการดำเนินงานตามขึ้นตอนต่าง ๆ  ดังนี้
1. การป้องกันการปะปนพันธุ์
-          ทำความสะอาดลานตาก  และรองพื้นด้วยผ้าพลาสติกก่อนนำเมล็ดพันธุ์มากอง  และเกลี่ยไม่ให้หนาเกินไป  เพื่อลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ในกรณีมีถึงลดความชื้น  ก็ต้องทำความสะอาดถึงทุกซอกทุกมุม  ไม่ให้มีเมล็ดพันธุ์เหลือตกค้าง
-          ทำความสะอาดเครื่องจักรและอุปกรณ์การคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ก่อนที่จะทำการปรับปรุทุกพันธุ์พืช
-          ตรวจสอบภาชนะบรรจุและแคร่รองรับเมล็ดพันธุ์ก่อนใช้ทุกครั้ง  จนแน่ใจว่าไม่มีพันธุ์อื่นหรือสิ่งสกปรกตกค้างอยู่
-          ทำความสะอาดบริเวณที่ปฏิบัติงาน  ทั้งก่อนปฏิบัติงานและขณะปฏิบัติงานทุกวัน
ทั้งนี้  หากมีเมล็ดพันธุ์หลายชนิด  การจัดลำดับชนิดเมล็ดพันธุ์ที่จะดำเนินการ  ควรจัดให้มีการปรับปรุงสภาพชนิดพันธุ์เดียวกันอย่างต่อเนื่องให้เสร็จสิ้นทีละพันธุ์
2. การตรวจสอบความพร้อมเครื่องจักรอุปกรณ์คัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์
-          ตรวจสอบระบบไฟฟ้าควบคุมการทำงานของเครื่องจักรอุปกรณ์คัดทำความสะอาดทั้งระบบ
-          ตรวจสอบการทำงานของระบบลำเลียงเมล็ดพันธุ์
-          ตรวจสอบการทำงานของระบบลดความชื้น (กรณีมีถึงลดความชื้น) - เครื่องกำเนิดความร้อน (Heater) พัดลม (Blower)
-          ตรวจสอบการทำงานของเครื่องคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์
-          ตรวจสอบการทำงานของเครื่องชั่ง  บรรจุและเย็บถุง
วิธีการ  ตรวจสอบดูด้วยตา  เสียงที่ได้ยินและกลิ่นที่เกิดขึ้นหากเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ผิดปกติจากการตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักรอุปกรณ์ที่กล่าวข้างต้น  ต้องแก้ไขซ่อมให้เครื่องอุปกรณ์ทำงานได้อย่างเป็นปกติและมีประสิทธิภาพพร้อมใช้งานต่อไป
3. การเตรียมวัสดุการผลิต
ตรวจสอบปริมาณวัสดุการผลิตและละชนิด  ตั้งแต่ปริมาณน้ำมัน  ป้ายแสดงคุณภาพ  (Tag)  กระสอบบรรจุเมล็ดพันธุ์และด้าย  ให้สอดคล้องกับปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่จะนำเข้าปรับปรุง
 
การลดความชื้นเมล็ดพันธุ์
                หลักจากเก็บเกี่ยวและนวดจนได้เมล็ดพันธุ์ข้าวแล้ว  เมล็ดที่จะใช้ทำเป็นพันธุ์ปลูกหรือผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ต่อไปนั้นตัวเมล็ดเองจะยังมีความชื้นที่สูงอยู่  โดยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บเกี่ยวซึ่งหากเก็บเกี่ยวด้วยรถเกี่ยวนวดแล้ว  ความชื้นเมล็ดอาจสูงมากกว่าร้อยละ  20  และเมล็ดที่มีความชื้นสูงมากๆ หากบรรจุในกระสอบ  ถุง  กองรวมกันในรถบรรทุกหรือในภาชนะบรรจุชั่วคราวจะส่งผลให้กระทบโดยตรงต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ให้ลดลงหรือเสื่อมสภาพได้อย่างรวดเร็ว  จึงจำเป็นต้องทำการลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ข้าวเหล่านั้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำให้  เพื่อรักษาระดับคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะรักษาไว้ได้
                ความชื้นของเมล็ดพันธุ์คือ  ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในเมล็ดพันธุ์  โดยมีหน่วยวัดเป็นอัตราส่วนร้อยละของน้ำหนักน้ำที่อยู่ในเมล็ดพันธุ์ต่อน้ำหนักมวลรวมของเมล็ดพันธุ์นั้น  (น้ำหนักฐานเปียก)  และปริมาณน้ำนี้เมื่ออยู่ในเมล็ดพันธุ์ก็จะมีมูลค่าเท่ากับราคาซื้อขายเมล็ดพันธุ์นั้น  การกำหนดและควบคุมระดับความชื้นของเมล็ดพันธุ์จึงมีผลต่อค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการผลิต
                นอกจากนั้นระดับความชื้นจะมีผลกระทบต่อความต้านทานในการแตกร้าวของเมล็ดพันธุ์ในระหว่างการเคลื่อนย้าย  หรือถูกปฏิบัติด้วยแรงหรือเครื่องจักรกลต่าง ๆ ในระดับความชื้นที่พอเหมาะ  เมล็ดพันธุ์จะต้านทานต่อการแตกร้าวมากกว่าที่ระดับความชื้นที่ต่ำกว่า  หากความชื้นสูงเกินไปแม้จะต้านทานการแตกร้าวได้ดี  แต่ความต้านทางต่ออาอาบอบช้ำจะลดลง  สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด  บทบาทของความชื้นเมล็ดพันธุ์ที่เป็นปัญหาสำคัญคือ ผลกระทบต่อสุขภาพของเมล็ดพันธุ์  ทั้งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของตัวเมล็ดพันธุ์เองและการรุกรานของจุลินทรีย์ที่อยู่ร่วมกับมวลเมล็ดพันธุ์นั้น  กล่าวคือ  ระดับความชื้นเป็นตัวเร่งอัตราการเสื่อมความมีชีวิตของเมล็ดพันธุ์ในระหว่างเก็บรักษา  และยังมีผลต่อการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูในโรงเก็บอีกประการหนึ่งด้วย  สาเหตุอันเนื่องมาจากเมล็ดพันธุ์มีคุณสมบัติเป็นไฮโกรสโคปิก  (hygroscopic)  ที่สามารถเปลี่ยนแปลงระดับความชื้นและควบคุมระดับความชื้นของเมล็ดพันธุ์ตามเงื่อนไขนี้ว่า  ความชื้นสมดุลของเมล็ดพันธุ์ (seed equilibrium moisture  content)
                การลดความชื้นเมล็ดพันธุ์คือ  การนำน้ำออกจากเมล็ดพันธุ์ด้วยวิธีการที่ปลอดภัยต่อตัวของเมล็ดพันธุ์เอง  ด้วยการสร้างบรรยากาศและควบคุมให้เกิดการระเหยขึ้นกันเมล็ดพันธุ์ให้ได้ตามที่กำหนด  โดยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในเรื่องความชื้นกับบรรยากาศและเมล็ดพันธุ์  เพื่อสร้างและกำหนดขอบเขตของการลดความชื้นให้ได้อย่างเหมาะสมถูกต้องตามต้องการ  ซึ่งสรุปส่วนที่เป็นสาระสำคัญได้  ดังนี้
1. การระเหยน้ำจากเมล็ดพันธุ์จะเกิดขึ้น  เมื่อความดันไอของน้ำในเมล็ดพันธุ์สูงกว่าในบรรยากาศ  ทั้งนี้ 
ความชื้นของเมล็ดพันธุ์จะไม่ลดลงเลยเมื่อถึงสภาพสมดุลกับบรรยากาศนั้น  นั่นคือความดันไอภายในเมล็ดพันธุ์เท่ากันกับความดันไอของอากาศภายนอกโดยระดับความชื้นสมดุลย์ของเมล็ดพันธุ์ซึ่งจะแปรผันตามชนิดของเมล็ดพันธุ์และคุณสมบัติของอากาศที่รายรอบอยู่
2. ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศจะแปรผันโดยตรงกับระดับความดันไอ  นั่นคือ  หากความชื้นสัมพัทธ์
ของอากาศสูง  ความดันไอก็จะสูงด้วย  ในขณะที่ความชื้นสัมพันธ์ของอากาศต่ำ  ความดันไอก็จะต่ำลงด้วย  ทั้งนี้หากเพิ่มอุณหภูมิอากาศปกติให้สูงขึ้น  ก็จะทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศนั้นลดต่ำลง  ความดันไอของอากาศก็จะต่ำตามลงไปด้วย
3. ขบวนการลดความชื้นเมล็ดพันธ์ที่มีประสิทธิภาพต้องสร้างภาพให้เกิดการระเหยน้ำ  และนำพาน้ำที่ระเหยออกจากมวลเมล็ดพันธุ์ในขณะเดียวกัน  โดยที่การระเหยน้ำจากเมล็ดพันธุ์  จะเกิดขึ้นรอบ ๆ บริเวณผิวเมล็ดพันธุ์  ในขณะที่ภายในเมล็ดพันธุ์จะเกิดขบวนการเคลื่อนย้ายความชื้นจากเซลล์สู่เซลส์หรือจากโมเลกุลสู่โมเลกุล  เพื่อรักษาระดับสมดุลตามธรรมชาติ
 
การคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์
                การคัดทำความสะอาด  มาจากคำ 2 คำ  คือ “การคัด” หมายถึงการแยกประเภทสิ่งที่รวมกันอยู่เพื่อเลือกเอาไว้หรือเอาออก  กับ  “การทำความสะอาด”  หมายถึง  การทำให้ปราศจากสิ่งสกปรก  ทำให้หมดจด  แวววาว  เมื่อนำมารวมกันก็จะหมายถึงการเลือกสิ่งที่ต้องการเอกไว้แล้วทำให้ปราศจากสิ่งสกปรก
                การคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์  คือการคัดแยกสิ่งปะปนที่ไม่พึงประสงค์  ให้ออกไปจากส่วนของเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์  การทำความสะอาดจะเน้นในส่วนของสิ่งเจือปนต่าง ๆ   เช่น  ฝุ่น  กรวด  หิน  ดิน  ทราย  เศษใบไม้  เศษพืช  หรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์  เป็นต้น  แต่การคัดแยกจะเน้นในเรื่องการคัดขนาดต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพ  ซึ่งมีเงื่อนไขความละเอียดและความเฉพาะในทางปฏิบัติ  โดยอาจจะมีเครื่องจักรที่ใช้ในการปฏิบัติงานมากกว่า  1  ชนิด
                เครื่องจักรพื้นฐานที่สำคัญที่ใช้ทำความสะอาดคัดแยกเมล็ดพันธุ์  ได้แก่  เครื่องคัดทำความสะอาดแบบตะแกรงลม  (air screen  cleaner)  ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นเครื่องจักพื้นฐานในการคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์  ก่อนที่เมล็ดพันธุ์จะผ่านไปคัดขนาด  เพื่อยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในเครื่องจักรเฉพาะอื่น ๆ โดยปกติจะต้องผ่านการทำความสะอาดและคัดแยกจากเครื่องจักรนี้ก่อนเสมอ
                โดยปกติแล้วเมล็ดพันธุ์หลักการเก็บเกี่ยวที่นำเข้าสู่กระบวนการคัดและทำความสะอาดนั้นเป็นการเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคนเป็นส่วนใหญ่  ปัจจุบันได้มีการนำเครื่องจักรมาใช้ในการเก็บเกี่ยวเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน  ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการเก็บเกี่ยวด้วยวิธีใดก็ตาม  สิ่งแรงที่ต้องการจัดการกับเมล็ดพันธุ์  หลักจากเก็บเกี่ยวแล้วก็คือการคัดทำความสะอาดเบื้องต้น
                การคัดทำความสะอาดขั้นต้น  เป็นการคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ในเบื้องต้น  เพื่อกำจัดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ที่ประปนมา  เช่นเศษดิน  หิน  ใบไม้  เศษพืชขนาดเล็ดใหญ่หรือเมล็ดลีบที่เบามากๆ เป็นการคัดทำความสะอาดแบบหยาบดำเนินการได้ทั้งเมล็ดพันธุ์ที่ถูกลดความชื้นมาแล้ว  จากการผึ่งแดด ไว้ในไร่นา  ด้วยเครื่องมือที่ใช้ได้แก่  เครื่องสีฝัดแบบจีน  ใช้พัด  แรงลมธรรมชาติ  เป็นต้น  ในปัจจุบันนี้เครื่องจักรกลได้ถูกนำมาใช้ในการเก็บเกี่ยวมากขึ้น  เมล็ดพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวได้จะมีความชื้นค่อนข้างสูง  การคัดทำความสะอาดขั้นต้นจะถูกดำเนินการก่อนที่จะนำเข้าลดความชื้นกรณีที่ต้องนำเข้าสู่ถังลดความชื้นการคัดทำความสะอาดจะต้องใช้เครื่องจักรมาช่วยให้เกิดความรวดเร็ว  เพราะเมล็ดพันธุ์ต้องรีบนำเข้าสู่กระบวนการลดความชื้นโดยเร็วที่สุดเพื่อรักษาความมีชีวิตของเมล็ดพันธุ์เอาไว้
                การคัดทำความสะอาดอย่างละเอียด (fine cleaning) 
มีลักษณะของการการปฏิบัติคล้ายคลึงกันกับการคัดทำความสะอาดขั้นต้น  แต่มีประสิทธิภาพในการคัดทำความสะอาดสูงกว่า  ส่วนใหญ่มักนิยมใช้เครื่องคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์แบบตะแกรงลม (air screen cleaner)  ขนาดของรูเปิดของตะแกรงจะใกล้เตียงกับขนาดของเมล็ดพันธุ์ที่จะคัดทำความสะอาด  แต่หากวัสดุที่ไม่พึงประสงค์ที่ต้องการคัดแยกออกมีขนาดและน้ำหนักใกล้เคียงหรือเท่ากับเมล็ดพันธุ์  การคัดทำความสะอาดจะไม่สมบูรณ์  ในกรณีเช่นนี้ต้องนำไปผ่านเครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์และคัดเกรดต่อไป  โดยเครื่องคัดแยกที่จะใช้ต้องมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องคัดทำความสะอาดเมล็ดแบบตะแกรงลม
                การคัดแยกและการคัดเกรดเมล็ดพันธุ์  ดังได้กล่าวแล้วว่า  วัสดุและสิ่งที่ไม่พึงประสงค์บางชนิดมีขนาดและน้ำหนักใกล้เคียงกับเมล็ดพันธุ์  ซึ่งมีสามารถแยกออกไปจากกองเมล็ดพันธุ์  โดยการใช้เครื่องคัดทำความสะอาดเมล็ดแบบตะแกรงลม  ในกรณีเช่นนี้จำเป็นต้องให้เมล็ดพันธุ์ผ่านไปในเครื่องคัดแยกอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพในการคัดแยกเมล็ดพันธุ์และสิ่งเจือปนอื่น ๆ เครื่องเหล่านี้ได้แก่  เครื่องคัดขนาดโดยอาศัยความถ่วงจำเพาะ  หรือเครื่องแกรวิตี้ (gravity  separator) เครื่องแยกเมล็ดพันธุ์โดยอาศัยความแตกต่างด้านความยาวของเมล็ด  (length  separator)  และเครื่องแยกเมล็ดแบบกรวย  (spiral  separator)  เป็นต้น  การใช้เครื่องคัดแยกเหล่านี้มีหลักสำคัญในการพิจารณาเลือกใช้เครือเมล็ดพันธุ์และสิ่งเจือปนหรือวัสดุที่ไม่พึงประสงค์จะต้องมีความแตกต่างทางกายภาพในลักษณ์ใดลักษณะหนึ่ง  การคัดแยกจึงจะได้ผล  อนึ่ง  ในระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ  ของการคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์  สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องกระทำควบคู่กันไปคือ  การตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพของเมล็ดพันธุ์  เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถควบคุมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ทุกขั้นตอนที่ผลิตให้มีคุณภาพดี  ได้มาตรฐานที่กำหนดไว้
 
การคลุกสารเคมีและการบรรจุเมล็ดพันธุ์
หลังจากเมล็ดพันธุ์ผ่านการปรับปรุงสภาพโดยการอบลดความชื้น  และการคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์แล้ว  เมล็ดพันธุ์จะถูกนำไปคลุกสารเคมีเพื่อป้องกันความเสียหายจากศัตรูต่าง ในระหว่างการเก็บรักษา  เช่น  แมลง  ไร  หนู  และนก  รวมทั้งป้องกันโรคที่อาจติดมากับเมล็ด  เช่น  โรคถอดฝักดาบ  การคลุกสารเคมีให้กับเมล็ดมักใช้สารเคมี  2  ชนิด  ได้แก่  สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราและสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง  วิธีการคลุกสารอาจใช้เครื่องจักรแบบต่าง ๆ ได้แก่
1. เครื่องจักรแบบฉีดพ่นเป็นละออง  เป็นการฉีดสารเคมีที่เป็นของเหลวให้กระจายไปเคลือบผิวเมล็ด  เป็นวิธีที่สิ้นเปลืองสารเคมีน้อย
2. เครื่องจักรแบบคลุกด้วยสารเคมีที่เป็นของเหลว  เป็นการใส่น้ำยาลงไปคลุกในถึง  มีกระพ้อตวงน้ำยาเทผสมกับเมล็ดในถังคลุก  สามารถปรับสัดส่วนปริมาณสารเคมีกับน้ำหนักเมล็ดได้ตามอัตราที่ต้องการ  เครื่องจักรแบบนี้เป็นที่นิยมใช้ทั่วไป
3. เครื่องจักรแบบคลุกด้วยสารเคมีที่เป็นผง  เป็นการคลุกสารเคมีแบบแห้ง
ข้อปฏิบัติในการคลุกสารเคมีก่อนบรรจุเมล็ดพันธุ์
-          เลือกใช้สารมีและอัตราที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเมล็ดพันธุ์  โดยอ่านและปฏิบัติตามคำเตือนการใช้สารเคมีที่ระบุไว้
-          คุลกสารเคมีในขณะที่เมล็ดมีความชื้นต่ำ  (เมื่อคุลกเมล็ดพันธุ์เสร็จแล้ว  ความชื้นต้องไม่เกิน 14%)
-          ไม่คลุกเมล็ดที่แตกหักเสียหาย
-          ระวังไม่ให้สารเคมีสัมผัสผิวหนัง หรือหายใจเอาฝุ่นละอองหรือไอระเหยของสารเคมีเข้าไป
-          อย่านำเมล็ดพันธุ์ที่คลุกสารเคมีแล้วไปขายเป็นอาหารสัตว์  หรือไปปนกับเมล็ดที่ไม่คลุกสารเคมีเพื่อขายเป็นอาหารสัตว์หรือผลิตภัณฑ์อื่น
-          ต้องแสดงเครื่องหมายบ่องบอกให้ผู้ใช้ทราบให้ชัดเจน  เช่น  ระบุไว้ที่ถุงบรรจุเมล็ดพันธุ์  ว่าเมล็ดพันธุ์นี้มีการคลุกสารเคมี
การบรรจุเมล็ดพันธุ์
                เมื่อเมล็ดพันธุ์คลุกสารเคมีเสร็จแล้ว  ก็พร้อมไปสู่กระบวนการบรรจุถุง  เพื่อจำหน่ายต่อไป  โดยการบรรจุเมล็ดพันธุ์ลงในถุงนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อความสะดวกในการเก็บรักษาและการขนส่ง  อีกทั้งเป็นการป้องกันอันตรายจากความชื้นแมลง  นก  หนู  และศัตรูอื่น ๆ ภาชนะที่ใช้บรรจุเมล็ดพันธุ์ข้าวนิยมใช้ภาชนะที่อากาศถ่ายเทได้  เช่น  ถุงป่าน  หรือถุงพลาสติกสาน  โดยเครื่องมือที่ใช้ในการบรรจุเมล็ดพันธุ์คือ  เครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องเย็บปากถุง  โดยน้ำหนักเมล็ดพันธุ์ข้าวที่นิยมบรรจุถึงเพื่อการจำหน่ายต่อ  25  กิโลกรัมต่อถุง  โดยที่ถุงบรรจุต้องมีการติดฉลากแสดงรายละเอียดสินค้า  เช่น  ชนิดเมล็ดพันธุ์  ชื่อพันธุ์  วันเดือนปีที่ผลิต  สถานที่ผลิต  เป็นต้น